top of page
  • รูปภาพนักเขียนวัดแสงธรรมวังเขาเขียว

ทางที่ถูกและราบรื่นของผู้ปฏิบัติก็คือ เมื่อจิตได้รับความสงบพอเห็นทางแล้ว ต้องฝึกหัดจิตให้คิดค้นในอาการของกาย จะเป็นอาการเดียวหรือมากอาการก็ตาม ด้วยปัญญาคลี่คลายดูกายของตน เริ่มตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า ๆ ฯลฯ ที่เรียกว่า อาการ ๓๒ ของกาย สิ่งเหล่านี้ ตามปกติเต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดตลอดเวลา ไม่มีอวัยวะส่วนใดจะสวยงามตามโมหนิยม ยังเป็นอยู่ก็ปฏิกูล ตายแล้วยิ่งเป็นมากขึ้นไม่ว่าสัตว์ บุคคลหญิงชาย มีความเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ในโลกนี้เต็มไปด้วยของอย่างนี้ หาสิ่งที่แปลกกว่านี้ไม่มี ใครอยู่ในโลกนี้ต้องมีอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเห็นอย่างนี้


ความเป็นอนิจฺจํ ไม่เที่ยง ก็กายอันนี้ ทุกฺขํ ความลำบากก็กายอันนี้ อนตฺตา ปฏิเสธความประสงค์ของสัตว์ทั้งหลายก็กายอันนี้ สิ่งที่ไม่สมหวังทั้งหมดก็อยู่ที่กายอันนี้ ความหลงสัตว์หลงสังขารก็หลงกายอันนี้ ความถือสัตว์ถือสังขารก็ถือกายอันนี้ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารก็พลัดพรากจากกายอันนี้ ความหลงรักหลงชังก็หลงกายอันนี้ ความไม่อยากตายก็ห่วงกายอันนี้ ตายแล้วร้องไห้หากันก็เพราะกายอันนี้ ความทุกข์ทรมานแต่วันเกิดจนถึงวันตายก็เพราะกายอันนี้ ทั้งสัตว์และบุคคลวิ่งว่อน ไปมาหาอยู่หากิน ไม่มีวันไม่มีคืน ก็เพราะเรื่องของกายอันเดียวนี้ มหาเหตุมหาเรื่องใหญ่โตในโลก ที่เป็นกงจักรผันมนุษย์และสัตว์ไม่มีวันลืมตาเต็มดวงประหนึ่งไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ก็คือเรื่องของกายเป็นเหตุ กิเลสท่วมหัวจนเอาตัวไม่รอด ก็เพราะกายอันนี้ สรุปความเรื่องในโลก คือเรื่องเพื่อกายอันเดียวนี้ทั้งนั้น


เมื่อพิจารณากายพร้อมทั้งเรื่องของกายให้แจ้งประจักษ์กับใจ ด้วยปัญญาอยู่อย่างนี้ ไม่มีวันหยุดยั้ง กิเลสจะยกกองพลมาจากไหนใจจึงจะสงบลงไม่ได้ ปัญญาอ่านประกาศความจริง ให้ใจฟังอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ใจจะฝืนความจริงจากปัญญาไปไหน เพราะกิเลสก็เกิดจากใจ ปัญญาก็เกิดจากใจ เราก็คือใจ จะแก้กิเลสด้วยปัญญาของเราจะไม่ได้อย่างไร เมื่อปัญญาเป็นไปในกายอยู่อย่างนี้ จะไม่เห็นแจ้งในกายอย่างไรเล่า ? เมื่อเห็นกายแจ้งประจักษ์ใจด้วยปัญญาอย่างนี้ ใจต้องเบื่อหน่ายในกายตน และกายคนอื่นสัตว์อื่น ต้องคลายความกำหนัดยินดีในกาย แล้วถอนอุปาทานความถือมั่นในกาย โดยสมุจเฉทปหาน พร้อมทั้งความรู้เท่ากายทุกส่วน ไม่หลงรักหลงชังในกายใดๆอีกต่อไป


การที่จิตใช้กล้อง คือ ปัญญา ท่องเที่ยวในเมือง “กายนคร” ย่อมเห็น “กายนคร” ของตน และ “กายนคร” ของคนและสัตว์ทั่วไปได้ชัด ตลอดจนทางสามแพร่ง คือไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และทางสี่แพร่ง คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั่วทั้งตรอกของทางสายต่าง ๆ คือ อาการของกายทุกส่วน พร้อมทั้งห้องน้ำ ครัวไฟ (ส่วนข้างในของร่างกาย ) แห่งเมืองกายนคร จัดเป็น โลกวิทู ความเห็นแจ้งในกายนครทั่วทั้งไตรโลกธาตุก็ได้ด้วย ยถาภูตญาณทัสสนะ ความเห็นตามเป็นจริงในกายทุกส่วน หมดความสงสัยในเรื่องของกายที่เรียกว่า รูปธรรม


 

ต่อไปนี้ จะอธิบายวิปัสสนาเกี่ยวกับ นามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า แต่ละเอียดไปกว่ารูปขันธ์ คือ กาย ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่รู้ได้ทางใจ เวทนา คือ สิ่งที่จะต้องเสวยทางใจ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆบ้าง สัญญา คือ ความจำ เช่น จำชื่อ จำเสียง จำวัตถุสิ่งของ จำบาลีคาถา เป็นต้น สังขาร คือ ความคิด ความปรุง เช่น คิดดี คิดชั่ว คิดกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว หรือ ปรุงอดีตอนาคต เป็นต้น และ วิญญาณ ความรับรู้ คือ รับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และธรรมารมณ์ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นอาการของใจ ออกมาจากใจ รู้ได้ที่ใจ และเป็นมายาของใจด้วย ถ้าใจยังไม่รอบคอบ จึงจัดว่า เป็นเครื่องปกปิดความจริงได้ด้วย


การพิจารณานามธรรมทั้งสี่ ต้องพิจารณาด้วยปัญญา โดยทางไตรลักษณ์ล้วนๆ เพราะขันธ์เหล่านี้มีไตรลักษณ์ประจำตนทุกอาการที่เคลื่อนไหว แต่วิธีพิจารณาในขันธ์ทั้งสี่นี้ ตามแต่จริตจะชอบในขันธ์ใด ไตรลักษณ์ใด หรือทั่วไปในขันธ์ และไตรลักษณ์นั้นๆ จงพิจารณาตามจริตชอบในขันธ์และไตรลักษณ์นั้นๆ เพราะขันธ์และไตรลักษณ์หนึ่งๆ เป็นธรรมเกี่ยวโยงถึงกัน จะพิจารณาเพียงขันธ์หรือไตรลักษณ์เดียวก็เป็นเหตุให้ความเข้าใจหยั่งทราบไปในขันธ์และไตรลักษณ์อื่นๆ ได้โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน เพราะขันธ์และไตรลักษณ์เหล่านี้มีอริยสัจเป็นรั้วกั้นเขตแดนรับรองไว้แล้ว เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารลงในที่แห่งเดียว ย่อมซึมซาบไปทั่วอวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่รับรองไว้แล้ว ฉะนั้น



เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจงตั้งสติและปัญญา ให้เข้าใกล้ชิดต่อนามธรรม คือ ขันธ์สี่นี้ ทุกขณะที่ขันธ์นั้นๆ เคลื่อนไหว คือ ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป และไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาประจำตน ไม่มีเวลาหยุดยั้งตามความจริงของเขา ซึ่งแสดงหรือประกาศตนอยู่อย่างนี้ ไม่มีเวลาสงบ แม้แต่ขณะเดียว ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ทั่วโลกธาตุประกาศเป็นเสียงเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปฏิเสธความหวังของสัตว์ พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมทั้งนี้ไม่มีเจ้าของ ประกาศตนอยู่อย่างอิสรเสรีตลอดกาล ใครหลงไปยึดเข้าก็พบแต่ความทุกข์ ด้วยความเหี่ยวแห้งใจตรอมใจ หนักเข้ากินอยู่หลับนอนไม่ได้ น้ำตาไหลจนจะกลายเป็นแม่น้ำลำคลองไหลนองตลอดเวลา และตลอดอนันตกาลที่สัตว์ยังหลงข้องอยู่ ชี้ให้เห็นง่ายๆ ขันธ์ทั้งห้าเป็นบ่อหลั่งน้ำตาของสัตว์ผู้ลุ่มหลงนั่นเอง การพิจารณาให้รู้ด้วยปัญญาชอบในขันธ์และสภาวธรรมทั้งหลาย ก็เพื่อจะประหยัดน้ำตาและตัดภพชาติให้น้อยลง หรือให้ขาดกระเด็นออกจากใจผู้เป็นเจ้าทุกข์ ให้ได้รับสุขอย่างสมบูรณ์นั่นเอง


สภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้นนี้ จะเป็นพิษสำหรับผู้ยังลุ่มหลง ส่วนผู้รู้เท่าทันขันธ์และสภาวธรรมทั้งปวงแล้ว สิ่งทั้งนี้จะสามารถทำพิษอะไรได้ และท่านยังถือเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้เท่าที่ควร เช่นเดียวกับขวากหนามที่มีอยู่ทั่วไปใครไม่รู้ไปโดนเข้าก็เป็นอันตราย แต่ถ้ารู้ว่าเป็นหนามแล้วนำไปทำรั้วบ้านหรือกั้นสิ่งปลูกสร้าง ก็ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรฉะนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติ จงทำความแยบคายในขันธ์และสภาวธรรมด้วยดี สิ่งทั้งนี้เกิดดับอยู่กับจิตทุกขณะ จงตามรู้ความเป็นไปของเขาด้วยปัญญาว่าอย่างไรจะรอบคอบและรู้เท่านั้น จงถือเป็นภาระสำคัญประจำอิริยาบถ อย่าได้ประมาทนอนใจ



ธรรมเทศนาที่แสดงขึ้นจากขันธ์และสภาวธรรมทั่วไปในระยะนี้ จะปรากฏทางสติปัญญาไม่มีเวลาจบสิ้น และเทศน์ไม่มีจำนนทางสำนวนโวหาร ประกาศเรื่องไตรลักษณ์ประจำตลอดเวลา ทั้งกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ทั้งเป็นระยะที่ปัญญาของเราควรแก่การฟังแล้ว เหมือนเราได้ไตร่ตรองตามธรรมเทศนาของพระธรรมกถึกอย่างสุดซึ้งนั่นเอง ขั้นนี้นักปฏิบัติจะรู้สึกว่าเพลิดเพลินเต็มที่ ในการค้นคิดตามความจริงของขันธ์ และสภาวธรรมที่ประกาศความจริงประจำตน แทบไม่มีเวลาหลับนอน เพราะอำนาจความเพียรในหลักธรรมชาติ ไม่ขาดวรรคขาดตอน โดยทางปัญญาสืบต่อในขันธ์หรือสภาวธรรมซึ่งเป็นหลักธรรมชาติเช่นเดียวกัน ก็จะพบความจริงจากขันธ์และสภาวธรรม ประจักษ์ใจขึ้นมาด้วยปัญญาว่า แม้ขันธ์ทั้งมวลและสภาวธรรมทั่วไปตลอดไตรโลกธาตุ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของเขาอย่างนั้น ไม่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสตัณหาตามโมหนิยมแต่อย่างใด


อุปมาเป็นหลักเทียบเคียง เช่น ของกลางที่โจรลักไปก็พลอยเป็นเรื่องราวไปตามโจร แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนสอบสวนดูถ้วนถี่ จนได้พยานหลักฐานเป็นที่พอใจแล้ว ของกลางจับได้ก็ส่งคืนเจ้าของเดิม หรือเก็บไว้ในสถานที่ควรไม่มีโทษแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ก็มิได้ติดใจในของกลาง ปัญหาเรื่องโทษก็ขึ้นอยู่กับโจร เจ้าหน้าที่จะต้องเกี่ยวข้องกับโจรและจับตัวไปสอบสวนตามกฎหมาย เมื่อได้ความตามพยานหลักฐานถูกต้องตามกฎหมายว่าเป็นความจริงแล้ว ก็ลงโทษผู้ต้องหาตามกฎหมายและปล่อยตัวผู้ไม่มีความผิดและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกไปเป็นอิสรเสรีตามเดิมฉันใด เรื่องอวิชชาจิตกับสภาวธรรมทั้งหลายก็ฉันนั้น



ขันธ์และสภาวธรรมทั่วทั้งไตรโลกธาตุไม่มีความผิดและเป็นกิเลสบาปธรรมแต่อย่างใด แต่พลอยเป็นเรื่องไปด้วย เพราะจิตผู้ฝังอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา ไม่รู้ตัวว่าอวิชชา คือ ใคร อวิชชากับจิตจึงกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เป็นจิตหลงไปทั้งดวง เที่ยวก่อเรื่องรัก เรื่องชัง ฝังไว้ตามธาตุขันธ์ คือ ตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตามตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ และฝังรักฝังชังไว้ตามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดไตรโลกธาตุ เป็นสภาวะที่ถูกจับจองและรักชังยึดถือจากใจดวงลุ่มหลงนี้ทั้งสิ้น เพราะอำนาจความจับจองยึดถือเป็นเหตุ ใจอวิชชาดวงนี้จึงเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตาย หมุนเวียนไปได้ทุกกำเนิด ไม่ว่าสูง ต่ำ ดี ชั่ว ในภพทั้งสามนี้


แม้จะแยกกำเนิดของสัตว์ที่ต่างกัน ในภพนั้นๆ ไว้มากเท่าไร ใจดวงอวิชชานี้สามารถจะไปถือเอากำเนิดในภพนั้นๆ ได้ตามแต่ปัจจัยเครื่องหนุนของจิตดวงนี้ มีกำลังมากน้อย และดีชั่วเท่าไร ใจดวงนี้ต้องไปเกิดได้ตามโอกาสที่จะอำนวย ตามสภาวะทั้งหลายที่ใจดวงนี้มีความเกี่ยวข้อง จึงกลายเป็นเรื่องผิดจากความจริงของตนไปโดยลำดับ เพราะอำนาจอวิชชาอันเดียวเท่านี้ จึงก่อเหตุร้ายป้ายสีไปทั่วไตรโลกธาตุ ให้แปรสภาพ คือ ธาตุล้วนๆ ของเดิมไป เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และเป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามโมหะ (อวิชชา) นิยมเมื่อทราบชัดด้วยปัญญาว่า ขันธ์ห้าและสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวเรื่องและตัวก่อเรื่อง เป็นแต่พลอยมีเรื่อง เพราะอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ บันดาลให้สภาวะทั้งหลายเป็นไปได้ตามอย่างนี้แล้ว ปัญญาจึงตามค้นลงที่ต้นตอ คือ จิตดวงรู้ อันเป็นบ่อเกิดของเรื่องทั้งหลายอย่างไม่หยุดยั้งตลอดอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน โดยความไม่วางใจในความรู้อันนี้



เมื่อสติปัญญาที่ได้ฝึกซ้อมเป็นเวลานานจนมีความสามารถเต็มที่ ได้แผ่วงล้อมแลฟาดฟันเข้าไปตรงจุดใหญ่ คือ ผู้รู้ที่เต็มไปด้วยอวิชชาอย่างไม่รีรอ ต่อยุทธ์กันทางปัญญา เมื่ออวิชชาทนต่อดาบเพชร คือสติปัญญาไม่ไหวก็ทลายลงจากจิตที่เป็นแท่นบัลลังก์อันประเสริฐของอวิชชามาแต่กาลไหนๆ เมื่ออวิชชาได้ถูกทำลายตายลงไปแล้วด้วยอำนาจ “ มรรคญาณ” ซึ่งเป็นอาวุธทันสมัย เพียงขณะเดียวเท่านั้น ความจริงทั้งหลายที่ได้ถูกอวิชชากดขี่บังคับเอาไว้นานเป็นแสนกัปนับไม่ถ้วน ก็ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาเป็นของกลาง คือ เป็นความจริงล้วนๆ ทั้งสิ้น ธรรมที่ไม่เคยรู้ ได้ปรากฏขึ้นมาในวาระสุดท้าย “ ยถาภูตญาณทัสสนะ “ เป็นความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายอย่างเปิดเผยไม่มีอะไรปิดบังแม้แต่น้อย


เมื่ออวิชชาเจ้าผู้ปกครองนครวัฏฏะตายไปแล้วด้วยอาวุธ คือ ปัญญาญาณ พระนิพพานจะทนต่อความเปิดเผยของผู้ทำจริง รู้จริง เห็นจริงไปไม่ได้ แม้สภาวธรรมทั้งหลาย นับแต่ขันธ์ห้า อายตนะภายใน ภายนอก ทั่วทั้งไตรโลกธาตุ ก็ได้เป็นธรรมเปิดเผยตามความจริงของตน จึงไม่ปรากฏว่าจะมีอะไรที่เป็นข้าศึกแก่ใจต่อไปอีก นอกจากจะปฏิบัติขันธ์ห้า พอให้ถึงกาลอันควรอยู่ ควรไป ของเขาเท่านั้น ก็ไม่เห็นมีอะไร เรื่องทั้งหมดก็มีอวิชชา คือความรู้โกหกอันเดียวเท่านั้น เที่ยวรังแกและกีดขวางต่อสภาวะให้เปลี่ยนไปจากความจริงของตน อวิชชาดับอันเดียวเท่านั้น โลก คือสภาวะทั่วๆไปก็กลายเป็นปกติธรรมดา ไม่มีใครจะไปตำหนิติชมให้เขาเป็นอย่างไรต่อไปได้อีกแล้ว


เช่นเดียวกับมหาโจรผู้ลือนาม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฆ่าตายแล้ว ชาวเมืองพากันอยู่สบายหายความระวังภัยจากโจรฉะนั้น ใจทรงยถาภูตญาณทัสสนะ คือความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายอย่างสมบูรณ์ และเป็นความรู้ที่สม่ำเสมอไม่ลำเอียงตลอดกาล นับแต่วันอวิชชาได้ขาดกระเด็นไปจากใจแล้ว ใจย่อมมีอิสระเสรีในการนึกคิดไตร่ตรองรู้เห็น ในสภาวธรรมที่เกี่ยวกับใจได้อย่างสมบูรณ์ ตา หู จมูก ฯลฯ และรูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ ก็กลายเป็นอิสระเสรีในสภาพของเขาไปตามๆกัน ไม่ถูกกดขี่บังคับหรือส่งเสริมใดๆ จากใจอีกเช่นเคยเป็นมา ทั้งนี้เนื่องมาจากใจเป็นธรรม มีความเสมอภาคและให้ความเสมอภาคแก่สิ่งทั้งปวง จึงหมดศัตรูต่อกันเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าจิตกับสภาวธรรมทั้งหลายในไตรโลกธาตุ ได้ประกาศสันติความสงบต่อกันลงในสัจจะความจริงด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ภาระของจิตและเรื่องวิปัสสนาของนามธรรมที่เกี่ยวกับจิต จึงขอยุติเพียงเท่านี้


จากหนังสือ ปัญญาอบรมสมาธิ

bottom of page