ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า “ใจ” มีภาษาเดียวเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด มีเพียงความรู้คือใจนี้ ฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นภาษาเดียว พอนึกออกมาก็เข้าใจ แต่เวลาแยกออกมาพูดต้องเป็นภาษานั้นภาษานี้ ไม่ค่อยเข้าใจกัน ความรู้สึกภายในจิตใจนั้นเหมือนๆ กัน ธรรมกับใจจึงเข้ากันสนิท เพราะธรรมก็ไม่ได้เป็นภาษาของอะไร ธรรมก็คือภาษาของใจ ธรรมอยู่กับใจ”
ความสุขความทุกข์อยู่กับใจ การทำให้สุขหรือให้ทุกข์เกิดขึ้นก็ใจเป็นผู้คิดขึ้นมา ผลที่ปรากฏขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์ ใจเป็นผู้รับรู้ เป็นผู้รับภาระในผลของตนที่คิดขึ้นมา ใจกับธรรมจึงเข้ากันได้สนิท ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด เรื่องธรรมนั้นเข้ากันได้ทั้งนั้น เพราะใจกับธรรมเป็นของคู่ควรกันอยู่แล้ว
ใจนี้คือแก่นในสกลกายของเรา เป็นแก่นอันหนึ่งหรือเป็นของแข็ง หรือเป็นสาระสำคัญที่มีอยู่ในร่างกายนี้ ได้แก่ใจเป็นหลักใหญ่ อาการที่เกิดขึ้นจากใจ เช่น ความคิดความปรุง เกิดแล้วดับ ๆ ก็หมายถึงความกระเพื่อมของใจกระเพื่อมขึ้นมา คือความคิดปรุง ความหมายเกี่ยวกับการคาดการจดจำนั้นหมายถึงสัญญา ยาวออกไปก็เป็นสัญญา สั้นก็เป็นสังขาร คือปรุงแพล็บก็เป็นสังขาร สัญญา คือความหมายความจำ วิญญาณหมายถึงการรับรู้ในขณะที่สิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัสอายตนะภายใน เช่น ตากับรูปสัมผัสกันเกิดความรู้ขึ้นมา เป็นต้น เหล่านี้มีการเกิดการดับอยู่ประจำตัวของเขาเอง ท่านจึงเรียกว่า “ขันธ์” แต่ละหมวดแต่ละกองรวมแล้วเรียก ว่า “ขันธ์”
ขันธ์ห้ากองนี้มีการเกิดการดับกันอยู่เป็นประจำ แม้แต่พระขีณาสพท่านก็มีอาการเหล่านี้เช่นเดียวกับสามัญชนทั่วๆ ไป เป็นแต่ว่าขันธ์ของท่านเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องบังคับบัญชาใช้ให้ทำนี้ ปรุงนี้คิดนั้น เป็นขันธ์ที่คิดโดยธรรมชาติของมันเอง เป็นอิสระของขันธ์ ไม่มีอะไรมาบังคับให้คิดนั่นปรุงนี่เหมือนจิตสามัญชนทั่วๆ ไป ถ้าจะเทียบขันธ์ของสามัญชนทั่วไป ก็เหมือนนักโทษที่ถูกบังคับบัญชาอยู่ตลอดเวลา ความคิดความปรุง ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผู้บังคับบัญชาออกมา ให้คิดอย่างนั้นให้ปรุงอย่างนี้ ให้สำคัญมั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ คือมีกิเลสเป็นนาย หัวหน้า บังคับบัญชาขันธ์เหล่านี้ให้แสดงตัวขึ้นมา
ส่วนพระขีณาสพคือพระอรหันต์ท่านไม่มี ปรุงก็ปรุงธรรมดา พอปรุงแล้วก็ดับไปธรรมดาไม่มีเชื้อต่อ ไม่มีเชื้อกดถ่วงจิตใจ เพราะไม่มีอะไรบังคับเหมือนดังขันธ์ที่มีกิเลสปกครองหรือมีกิเลสเป็นหัวหน้า ผิดกันตรงนี้ แต่ความจริงนั้นเหมือนกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง ความแปรสภาพของแต่ละขันธ์ๆ มีประจำตัวด้วยกัน นับแต่รูปขันธ์คือกายของเรา เวทนาขันธ์ ได้แก่ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ นี่ก็เกิดดับๆ สัญญา สังขาร วิญญาณ มีเกิดมีดับประจำตนอยู่ตลอดไป
ส่วนความรู้จริงๆ ที่เป็นรากฐานแห่งความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดดับๆ นี้ไม่ดับ เราจะพูดว่า “จิตนี้ดับไม่ได้” เราจะพูดว่า “จิตนี้เกิดไม่ได้” เพราะฉะนั้นจิตที่บริสุทธิ์แล้วจึงหมดปัญหาในเรื่องเกิดเรื่องตาย ที่เกี่ยวกับธาตุขันธ์ไปถือกำเนิดเกิดที่นั่นที่นี่ แสดงตัวอันหยาบออกมา เช่น เป็นสัตว์เป็นบุคคลเหล่านั้น เป็นต้น จึงไม่มีสำหรับจิตท่านที่บริสุทธิ์แล้ว
แต่ถ้าไม่บริสุทธิ์ ก็พวกนี้แหละไปเกิดไปตาย หมายป่าช้าอยู่ไม่หยุด เพราะจิตที่ไม่ตายนี้แหละ
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนโลก เฉพาะอย่างยิ่งคือโลกมนุษย์เรา ผู้ที่รู้ดีรู้ชั่ว รู้บาปบุญคุณโทษ และรู้วิธีการที่จะแก้ไขดัดแปลงหรือส่งเสริมได้ เข้าใจในภาษาธรรมที่ท่านแสดง ท่านจึงได้ประกาศสอนโลกมนุษย์เป็นสำคัญกว่าโลกอื่นๆ เพื่อจะได้พยายามดัดแปลงหรือแก้ไขสิ่งที่เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์และเป็นโทษ ออกจากจิตใจกายวาจา และสอนให้พยายามบำรุง ส่งเสริมความดีที่พอมีอยู่บ้างแล้วหรือมีอยู่แล้ว และที่ยังไม่มีให้มีให้เกิดขึ้น สิ่งที่มีแล้วบำรุงรักษาให้เจริญ เพื่อเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความชุ่มเย็นมีความสงบสุข มีหลักมีเกณฑ์ด้วยคุณธรรมคือความดี หากได้เคลื่อนย้ายจากธาตุขันธ์ปัจจุบันนี้ไปสู่สถานที่ใด ภพใดชาติใด จิตที่มีความดีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ ย่อมเป็นจิตที่ดี ไปก็ไปดี แม้จะเกิดก็เกิดดี อยู่ก็อยู่ดี มีความสุขเรื่อยๆไป
จนกว่าจิตนี้จะมีกำลังสามารถอำนาจวาสนา มีบุญญาภิสมภารที่ได้สร้างโดยลำดับลำดา นับตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ต่อเนื่องกันมา เช่นวานนี้เป็นอดีตสำหรับวันนี้ วันนี้เป็นอดีตสำหรับวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันที่เราได้สร้างความดีมาด้วยกันทั้งนั้น และหนุนกันเป็นลำดับ จนกระทั่งจิตมีกำลังกล้าสามารถ เพราะอำนาจแห่งความดีนี้เป็นเครื่องสนับสนุน แล้วผ่านพ้นไปได้
จาก ธรรมะชุดเตรียมพร้อม - อะไรคือจิต - จิตพระอรหันต์
Comments