top of page
  • รูปภาพนักเขียนวัดแสงธรรมวังเขาเขียว


รสแห่งธรรม ชำนะซึ่งรสทั้งปวง คำว่า “รสทั้งปวง” นั้น คือ ทั้งหมด ไม่ว่ารสอะไรทั้งนั้นในโลก รสแห่งธรรมนี้เป็น “ยอด” คือชนะรสทั้งปวงหมด ที่ตรัสไว้เช่นนั้นก็คือ พระพุทธเจ้า ผู้เคยมีรสมีชาติเต็มพระทัย ได้ผ่านมามากต่อมากแล้วทุกรสทุกชาติ มีความหนักเบามากน้อยเพียงไรทรงทราบหมด แล้วก็ทรงประสบ “รสแห่งธรรม” ประจักษ์พระทัยว่า เป็นรสที่บริสุทธิ์ยอดเยี่ยม คือ ถึงขั้นบริสุทธิ์แห่งจิตแห่งธรรมอันเป็นรสประเสริฐสุด ทรงนำรสที่ได้ประสบประจักษ์พระทัยมาประกาศสอนโลก ให้ได้รู้ได้เห็น และให้ได้ปฏิบัติ ให้ได้ดื่ม “ธรรมรส” ทั่วถึงกันแต่ครั้งโน้นจนถึงปัจจุบัน ธรรมที่ตรัสไว้ จึงเป็นธรรมที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริงแม้นิดหนึ่ง เพราะธรรมทั้งฝ่ายเหตุ คือ อุบายดำเนิน และฝ่ายผลที่ได้รับสนองเป็นหลักฐานพยาน ออกจากพระทัยที่บริสุทธิ์ บาลีว่า-

สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ” – “รสแห่งธรรม ชำนะซึ่งรสทั้งปวง”
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ” – “การให้ทานธรรม ชำนะซึ่งการให้ทั้งปวง”

รสที่เคยเกี่ยวข้องกันมากับภพชาติต่างๆ นั้น กี่กัปกี่กัลป์ พระองค์ก็ทรงผ่าน และทราบโดยตลอด เช่นเดียวกับสัตว์โลกที่เคยผ่านรสชาติต่างๆ มา แต่รสแห่งธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ไม่มีรสใดจะดื่มด่ำซาบซึ้งถึงใจยิ่งกว่ารสแห่งธรรม สรุปแล้วรสภายนอกทั้งปวง สู้ธรรมรสภายในใจไม่ได้ จึงกรุณาทราบว่า ธรรมกับใจ เป็นสิ่งคู่ควรกันอย่างยิ่ง เกี่ยวกับรสชาติแห่งธรรม ที่สัมผัสสัมพันธ์กับใจ ไม่มีสิ่งใดรับสัมผัสรสแห่งธรรมได้ นอกจากใจอย่างเดียว



คำว่า “รสแห่งธรรม” นี้ เมื่อแยกออก ก็มีหลายขั้นของรส การให้ทาน ก็เป็นรสอย่างหนึ่ง ที่ให้ผู้บริจาคทานได้ความเอิบอิ่มใจ รู้สึกว่าหัวใจเบาและพองเหมือนลูกโป่งลูกที่เด็กเป่าโป่ง ๆ น่ะ อาจารย์เองเคยเป็น ถ้าได้ทำบุญให้ทานอย่างถึงใจแล้ว รู้สึกจิตใจมันพองขึ้น เบาไปหมด ราวกับจะพาเหาะลอยขึ้นบนอากาศ ว่าสิ่งที่เราทำไปนี้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับจริงๆ เราให้เพื่อผู้รับได้ประโยชน์จริงๆ สมความมุ่งหมายที่เราตั้งใจให้ แล้วจิตใจเราก็รู้สึกซึ้ง และพองขึ้น ตัวเบา ใจเบา มีความสุขมากในขณะนั้น แม้จะมีใครมาว่า “บ้าให้ทาน” บุญที่เกิดจากการให้ทานนั้น ก็เป็นเกราะรอบตัว ไม่ให้โกรธใครได้ตามความรู้สึก นี่ ก็เป็นรสอันหนึ่ง รสแห่งความตระหนี่สู้ไม่ได้ ทานนี้ชนะรสแห่งความตระหนี่ได้อย่างประจักษ์ แต่ความตระหนี่มักเหยียบย่ำจิตใจคนตระหนี่ให้จมไปได้ที่ทั้งเขารัก หวงแหนความตระหนี่ถี่เหนียว ชนิดแยกจากกันไม่ออกจนวันตายก็ตาม


วัตถุสิ่งของเงินทอง ไม่ว่าสิ่งใด เมื่อมีอยู่กับใครๆ เป็นกรรมสิทธิ์ ทำไมจะไม่รักไม่สงวน ต้องรักต้องสงวนด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมจึงสามารถให้ทานได้ไม่เสียดาย นี่ก็เพราะอำนาจแห่งธรรม คือความเมตตา ความสงสาร และ ความกว้างขวางภายในใจ ที่เคยสั่งสมด้วย “จาคะเจตนา” นี้มานานจนฝังใจ กลายเป็นนิสัยวาสนาชอบให้ทาน เป็นพลังอันหนึ่งที่จะสามารถเอาชนะความตระหนี่เหนียวแน่น ความเห็นแก่ตัวนั้นได้ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากความดีที่ตนมุ่งหวังอยู่แล้ว จากการทำดีต่างๆ เท่านั้น ต่อผู้อื่นที่ควรได้รับ



การรักษาศีล ก็มีความเย็นใจ เพราะศีลนั้นเป็นธรรม รักษาไว้ซึ่งความกำเริบ ความกระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน กระทบกระเทือนสมบัติ กระทบกระเทือนจิตใจของกันและกัน เรารักษาไว้ได้ ไม่ให้จิตใจและสมบัติคนอื่นได้รับความกำเริบกระทบกระเทือนหรือสูญหายจากเรา เราเองก็ภูมิใจว่าได้ทำประโยชน์แก่ตนเอง ได้รักษาตนโดยเข้มงวดกวดขันถูกต้องดีงาม เป็นที่ชมเชยของคนทั้งหลาย การรักษาศีล ก็คือการรักษาคุณสมบัติของเราเอง ทั้งไม่กระทบกระเทือนแก่ผู้ใดด้วยการผิดศีล ฉะนั้นคนผู้รักษาศีลทุกประเภทให้สมบูรณ์ จึงคือคนที่รักษาคุณสมบัติของมนุษย์ให้เต็มภูมินั่นแล ผู้นั้นย่อมเกิดความอบอุ่นและเบิกบานใจ ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ


รสแห่ง “สมาธิ จิตที่เคยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม วุ่นวายอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นจิตที่เต็มไปด้วยความรุ่มร้อน ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นมาจากความส่ายแส่ของจิต และความวุ่นวายต่างๆ แล้วมาปรากฏเป็นความสงบเย็นขึ้นมาภายหลัง นี่ก็เป็นรสอันหนึ่ง เป็นกำลังหนุนจิตให้สามารถเห็นโทษแห่งความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่เคยเป็นมานั้น ๆ ได้


เมื่อจิตได้รับความสงบมากน้อยเพียงไร ก็ยิ่งจะทำให้เจ้าของมีความเอิบอิ่ม มีความปีติยินดีในความสงบ และมีแก่ใจที่จะบำเพ็ญจิตใจให้มีความสงบ และแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อรสแห่งความสงบนี้จะได้เด่นขึ้นตามกำลังของจิตที่มีความมั่นคงขึ้นโดยลำดับ เพียง “รสสมาธิ” ก็ทำให้ผู้บำเพ็ญเพลิน เพลินทั้งกลางวันกลางคืนได้ ไม่อยากยุ่งเหยิงวุ่นวายกับอารมณ์ที่เป็นภัยใดๆ มีแต่ความสงบเย็นแน่วแน่อยู่ตลอดเวลา เป็นความสุขสบาย ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้อง หรือยุ่งกวน นี่เป็นรสอันหนึ่ง ซึ่งอธิบายเพียงย่อๆ พอได้ความ ข้อเปรียบเทียบก็คือ ขณะนอนหลับสนิท เป็นขณะที่มีความสุขทางกายทางใจมาก จิตสงบก็สบายมากเช่นกัน


รส “ปัญญา ซึ่งถอดถอนพิษภัยกิเลส แต่ละประเภทๆ ออกได้ เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามออกจากฝ่าเท้าของเราก็เป็นรสอันหนึ่ง ปัญญาขั้นหยาบ ก็สามารถถอดถอนกิเลสขั้นหยาบ ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามเสียดแทงอยู่ภายในจิตออกได้ และปัญญาขั้นละเอียดก็สามารถถอดถอนกิเลสส่วนละเอียด อันเป็นเสี้ยนหนามส่วนละเอียดเสียดแทงจิตใจ ออกได้โดยลำดับๆ เช่นเดียวกัน จนกระทั่งปัญญาถอดถอนสิ่งที่เป็นภัย หรือ เสี้ยนหนาม คือ กิเลสทั้งมวลออกจากหัวใจได้โดยสิ้นเชิง ผู้นั้นชื่อว่า ได้รับรสแห่งธรรมโดยสมบูรณ์ ตามหลักที่ท่านสอนไว้ว่า


“รสแห่งธรรม ชำนะ ซึ่งรสทั้งปวง” นี่เป็นสุดยอดของ “รส”!

ในโลกนี้ ไม่มีรสใดที่จะชนะรสแห่งธรรมได้ ผู้ได้ลิ้มรสแห่งธรรมนี้ประจักษ์ใจแล้ว จึงเป็นผู้ปล่อยวางรสทั้งหลายโดยสิ้นเชิง โดยไม่มีความอาลัยเสียดาย ติดอกติดใจกับรสใดๆ ในโลกอีกต่อไปตลอดอนันตกาล


จาก ธรรมะชุดเตรียมพร้อม - รสแห่งธรรม ชำนะซึ่งรสทั้งปวง

bottom of page