ฉากที่ ๑๐ วัดป่าบ้านตาด
มูลเหตุการสร้างวัดป่าบ้านตาด
"คิดดูซิเรามาสร้างวัดทีแรก พวกค่างพวกชะนีเต็ม เราอยู่ข้างล่างเขาร้องอยู่ข้างบน...พวกชะนี พวกสัตว์พวกเนื้อพวกเสือพวกหมูพวกกวางพวกอะไรมา จากนั้นก็ค่อยหดเข้าไป ป่าหดเข้าไป สัตว์ก็หายไปๆ สุดท้ายเข้าใจว่าสัตว์นี้ตายหมดแหละไม่มีเหลือ มันเปลี่ยนแปลง มาสร้างวัดนี้ตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ มัน ๕๑-๕๒ ปีแล้วมั้งที่สร้างวัดนี่น่ะ เหตุที่จะสร้างวัดนี้ก็เพราะจะเอาโยมแม่บวช ไม่ใช่อะไรนะ มันโดนอยู่ห้วยทรายโน่น เราอยู่ห้วยทราย เรื่องราวโยมแม่กับเราไปโดนกันอยู่โน่น ตกลงก็เลยลั่นคำออกมาว่า ทีนี้ไปไหนไม่รอดแหละ เกี่ยวกับโยมแม่อยู่อุดรนั่น ออกจากนี้จะไปเอาโยมแม่บวชเสียก่อน แต่ว่าคล่องตัวนะ
เขียนจดหมายบอกมาให้เตรียมตัวไว้ พอมาจะบวชให้เลยเราว่า มาทางนี้ก็เตรียมพร้อม บวชให้เลย นั่นละเหตุที่จะได้อยู่วัดนี้ ก็มีแต่โยมแม่ แล้วแม่ชีแก้วกับแม่ชีน้อม แม่ชีน้อมเสียเผาที่หน้าศาลา เป็นคู่กันมา เราบอกชัดเจนว่าเราจะเอาโยมแม่บวช แล้วพวกนั้นก็วิ่งตาม กลัวว่าบวชโยมแม่แล้วก็ดีหรือไม่ได้บวชก็ดี เราคงไม่มีหวังได้กราบท่านอีกต่อไปแหละ จะต้องติดตาม แม่ชีแก้วจึงติดตามมากับแม่ชีน้อมมาอยู่ด้วยกัน มาก็เลยบวชจริงๆ โยมแม่ก็อยู่นี่ตลอด จนกระทั่งเสียไปปีพ.ศ.๒๔๒๕ นี่ก็บอกโยมแม่เลย ป่าช้าโยมแม่อยู่ที่หน้าศาลา อย่าเป็นห่วงกับอะไร กระดูกหนังอะไรอย่าเป็นห่วงมัน ให้ห่วงธรรมในใจ ภาวนาให้ดีก็แล้วกัน เรื่องศพเรื่องเมรุเราจะเป็นเจ้าของเอง คือเราจะเป็นเจ้าภาพ ก็เผาศพหน้าศาลาเผาโยมแม่ บอกโยมแม่เลย ป่าช้าโยมแม่อยู่หน้าศาลา อาตมาจะเป็นเจ้าของศพ อย่าห่วงเราว่างั้น พอโยมแม่เสียก็เผาที่ตรงนั้นละ
โยมแม่ใจสำคัญอยู่นะ สมที่เรามาบวชให้และอบรมสั่งสอน สมเจตนา ไปกระเทือนอยู่ห้วยทรายของง่ายเมื่อไร เราอยู่ห้วยทราย โยมแม่อยู่นี่ยังไปกระเทือนอยู่ห้วยทราย ก็เลยบอก ปีนี้จะต้องกลับไปหาโยมแม่ เป็นเรื่องใหญ่อยู่ พอออกพรรษาแล้วก็มาบวชโยมแม่ ภาวนาดีนะโยมแม่ ถามถึงเรื่องจิตใจและธาตุขันธ์ โอ๋ย พูดได้อย่างอาจหาญ จวนวันเข้ามา กุฏิหลังนี้ละหลังจันดีพักอยู่ เราก็ไปยืนอยู่หน้ากุฏิ ข้างในมีโยมแม่กับลูกๆ เต็มอยู่นั้น ไปก็ไปถาม วันสุดท้าย ดูโยมแม่อ่อนลงทุกทีๆ มองดูสภาพนี้จะไม่นานนะเราว่างั้น มองดูแล้วจะไม่นานนะนี่ แล้วทางจิตใจเป็นยังไง มาศึกษาอบรมจิตใจอยู่นี้เป็นเวลาหลายปีแล้วเป็นยังไง โอ๊ย จิตใจแม่ดีอยู่บอกเลยนะ จิตใจสว่างไสวตลอด แม่ไม่วิตกวิจารณ์อะไรเรื่องการเป็นการตาย จิตใจแม่สง่างาม พูดได้อย่างอาจหาญนะ เวลาไปก็ไปอย่างเงียบเหมือนกัน
พอตื่นเช้าขึ้นมาก็บอกลูกเลย เอ้อ แม่เห็นจะไปวันนี้แหละ พอ ๘ โมง ๔๕ นาทีเช้าวันนั้นโยมแม่ก็เสีย ก็ดีไม่เสียทีที่เรามาบวชโยมแม่ อบรมสั่งสอนโยมแม่ แม่ลงลูกก็เห็นตั้งแต่โยมแม่ลงเรา ลงโดยหลักธรรมชาตินะ ลงเอง การเทศนาว่าการนี่ยกให้เลยว่างั้น แม่ฟังเทศน์นี้มาก็มาก แต่ไม่เคยเห็นองค์ใดเทศน์อย่างนี้บอกงั้นเลย อาจารย์เทศน์นี่จิตแม่ลงทุกครั้งเลย ลงจริงๆ โยมแม่ลงเรา เวลาพูดไปสัมผัสสัมพันธ์ ส่วนมากไปในครัว เอาท่านปัญญาวัฑโฒถือเทปไปอัดเวลาเราเทศน์ในครัว ให้ท่านปัญญาไปด้วยไปอัดเทป เวลาเทศน์ก็มีหลายวรรคหลายตอนแล้วแต่จะไปสัมผัสอะไรๆ เทศน์ถึงขั้นสุดขีดของจิตของธรรม สุดขีดของธาตุของขันธ์ พอไปถึงสุดขีดของอรรถของธรรมแล้วก็สุดขีดของธาตุของขันธ์ โยมแม่ร้องว้ากเลยนั่งฟังอยู่ เป็นเองนะ ร้องขึ้นเลย
โหย แม่ไม่อยากฟังตอนตาย เราพูดอย่างมีหลักมีเกณฑ์ พูดถึงเรื่องการบำเพ็ญจิตบำเพ็ญธรรม วิถีจิตวิถีธรรมเรื่อยๆ หมุนๆ จากนั้นก็สุดขีดของจิตแล้วหมุนเข้ามาหาธาตุขันธ์ สุดขีดของธาตุขันธ์ตาย โยมแม่ร้องว้ากเลย ลงจริงๆ ลงเรา แล้วก็บอกตรงๆ เลย แม่ไม่เคยฟังเทศน์ใครเหมือนอาจารย์ เทศน์อาจารย์ลงจริงๆ โยมแม่ได้กำลังจิตมากก็คือตอนคุณเพามาพักอยู่นี่สามเดือน เราเข้าไปเทศน์สามเดือนนะ ทุกคืนๆ พอ ๖ โมงเย็นแล้วก็ไปกับท่านปัญญา เอาเทปไปอัด เทศน์ทุกคืนๆ ดูเหมือนจะได้ถึง ๙๐ กัณฑ์ละมั้ง นั่นละที่ได้มาเป็นหนังสือ ศาสนาอยู่ที่ไหน และ ธรรมะชุดเตรียมพร้อม หนังสือสองเล่มจากที่เราไปเทศน์ทุกวันให้เพาพงาฟัง อัดเทปเอาไว้แล้วมาถอดเป็นหนังสือสองเล่ม
จิตใจโยมแม่ดีอยู่ เราก็เบาใจ ไปถามเอาเลยละ เป็นยังไงจิตใจเวลานี้ อบรมมาก็มากแล้วนานแล้ว หลายปีแล้ว แล้วเป็นยังไงจิตใจ นี่จวนแล้วนะบอกตรงๆ โยมแม่ไม่นานนะมองดูก็รู้ โอ๋ย ใจแม่ดีอยู่ ขึ้นอย่างอาจหาญนะ แม่ไม่เป็นห่วงเป็นใยกับธาตุกับขันธ์ จิตใจแม่สง่างามตลอด เราก็เข้าใจ อีกสองวันมั้งก็ล่วง เรียกว่าโปรดแม่ได้ บวชมาอย่างไรก็ขอให้ได้โปรดพ่อโปรดแม่เสียก่อน เราพูดจริงๆ โปรดได้ว่างั้นเถอะน่ะ โปรดได้เพราะโยมแม่ลง ลงจริงๆ ฟังเสียงอรรถเสียงธรรมยกขึ้นเลยว่า ไม่ได้ยินเสียงใครเทศน์เหมือนอาจารย์เลย แม่ฟังเทศน์มานานแสนนาน ฟังเทศน์อาจารย์ไม่ทราบเป็นยังไง เอาแต่ของจริงมาเทศน์ ว่างั้นละ เอาแต่ของจริงมาเทศน์ ใส่ปั๊บๆ ตีลงๆ จิตหมอบๆ สงบแน่วๆ ทุกกัณฑ์ว่างั้น ไม่มีพลาด พออาจารย์เริ่มเทศน์ปั๊บจิตจะเริ่มหมอบๆ แล้วลงแน่วเลย ตอนไปเทศน์ให้เพาพงาฟัง ได้กำลังตอนนั้น
พอเพาพงากลับแล้วก็นิมนต์อีก ถ้าอาจารย์มีเวลาว่างก็ขอนิมนต์มาเทศน์โปรดแม่บ้าง แม่จิตใจดีจิตใจตั้งหลักได้เพราะเทศน์อาจารย์เท่านั้น บอกตรงๆ เลย ตั้งแต่มาเทศน์ตอนคุณเพามานี้จิตใจตั้งหลักได้แน่นหนามั่นคง เมื่อคุณเพากลับไปแล้วเวลาว่างก็ขอนิมนต์มาเทศน์ให้แม่ฟังบ้าง เราก็ไม่ได้เข้าไปเพราะไม่ว่าง นับว่าดีโยมแม่ เป็นที่แน่ใจ สมที่เรามุ่งหน้ามา จากห้วยทรายบึ่งมานี่เลย มาก็จับบวชเลย บวชแล้วก็พาไปจันท์ ออกจากจันท์ก็กลับมาสร้างวัดที่นี่ โยมแม่ก็มาเสียที่นี่แหละ เพราะได้ผลดีตามความคาดหมายของเราที่คิดไว้เรียบร้อยจากห้วยทราย เพราะไปเกี่ยวอยู่ด้วยนะ โยมแม่อยู่นี่ไปโดนเราอยู่ห้วยทราย
จึงได้บอกตรงๆ เลย ไปไหนไม่ได้ละเรื่องโยมแม่มาเกี่ยวข้องแล้ว ออกพรรษานี้แล้วจะต้องได้กลับไปอุดร ไปบวชโยมแม่ก่อน เขียนจดหมายมาบอก ว่ากลับมานี้จะมาบวชโยมแม่ ให้เตรียมพร้อมไว้ พอเรามาปั๊บก็เตรียมแล้ว บวชเลย บวชก็อยู่กับเราเรื่อยมา ดีนะ โยมแม่จิตใจดี นั่นละเห็นไหมใจ ฟังซิเรื่องความเป็นความตายแม่ไม่ห่วงว่างั้นนะ แม่ไม่ห่วงไม่สงสัย จิตใจแม่สง่างามอยู่ตลอดเวลา นั่นเห็นไหมล่ะ เคยเรียนหนังสือที่ไหน อ่านหนังสือสักตัวเดียวก็ไม่ได้ แต่ทำไมกล้าพูดได้ ว่าจิตใจแม่นี่สว่างไสว อาจหาญชาญชัยอยู่ตลอดเวลา ไม่สะทกสะท้านกับเรื่องความเป็นความตาย นั่นฟังซิน่ะ คนไม่ได้เรียนหนังสือทำไมพูดออกมาได้อย่างฉะฉาน
เวลาจะไปก็เป็นอย่างว่า พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ เอ้อ แม่จะไม่พ้นวันนี้นะ อ่อนมากแล้ว ตื่นเช้า พอ ๘ โมง ๔๕ นาทีเท่านั้นก็หมดลม เราก็เอามาเผาที่นี่ เราได้บอกโยมแม่ไว้เรียบร้อยแล้วให้หายห่วง เรื่องศพเรื่องเมรุโยมแม่อย่ามาเป็นห่วงนะบอกงั้นเลย ป่าช้าโยมแม่อยู่ที่หน้าศาลา อาตมาจะเป็นเจ้าของเป็นเจ้าภาพเอง บอกตรงๆ เลยไม่ต้องมาห่วงเรื่องศพเรื่องเมรุ ให้ห่วงแต่จิตใจเจ้าของ เรื่องศพเรื่องเมรุอาตมาจะเป็นเจ้าภาพเอง ก็เป็นอย่างนั้น พอเผาก็มาที่หน้าศาลา โยมแม่ก็ไปสะดวกสบาย ไปอย่างสงบเลย บอกลูกทุกระยะๆ นั่นละเห็นไหมใจเมื่อได้รับการอบรมแล้วเป็นอย่างนั้น บอกตั้งแต่ตื่นนอนปั๊บ นี่แม่จะไม่พ้นวันนี้นะ พอ ๘ โมง ๔๕ ก็สิ้นลม เวลาถามถึงจิตใจอาจหาญ เราก็นับว่าสมหวังอยู่ บวชแล้วไปกลับมาก็ได้มาสอนโยมแม่ให้มีศีลมีธรรม ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ธรรมเป็นหลักใจ ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกัน"
ข้อวัตรปฏิบัติวัดป่าบ้านตาด
วัดป่าบ้านตาด ตั้งอยู่ ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่กำแพงล้อมรอบ ๑๖๕ ไร่ ๑๕ ตารางวา (พื้นที่ใหม่ ๓๑๗ ไร่) ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ รอบๆ เป็นที่อุดมสมบูรณ์มีน้ำดี ทำนาได้ผลดีกว่าที่อื่น สภาพภายในเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสงบเรียบง่าย ด้วยเหตุที่มีกำแพงล้อมรอบบริเวณอย่างมิดชิด จึงรักษาต้นไม้และสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการทำลายหรือการลักลอบเข้ามาฆ่าสัตว์ในบริเวณได้ บรรยากาศในเขตอภัยทานแห่งนี้ จึงร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ และเป็นที่พึ่งพิงอันอบอุ่นและปลอดภัยแก่สัตว์น้อยใหญ่หลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต แย้ นก ฯลฯ
เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัด จะสัมผัสกับความร่มรื่นชุ่มตาเย็นใจกับธรรมชาติของป่า ได้ยินเสียงของแมลงมีปีกหมู่ใหญ่ร้องเสียงก้องกังวานสนั่นไพรในบางฤดูกาล ปะปนด้วยเสียงขันของไก่ป่าซึ่งออกเที่ยวหากินอย่างแข็งขันชนิดไม่มีวันหยุดงานเหมือนมนุษย์เรา
ครั้นเดินต่ออีกประมาณ ๕๐ เมตร จะพบศาลาการเปรียญอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นศาลาไม้ เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังใหญ ่ และมีีเพียงหลังเดียวในวัดนี้ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียว ยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
กิจวัตรประจำวันพระเณร
กิจวัตรหลักประจำวันของพระเณรก็คือ การนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อฝึกฝนสติ ปัญญา และชำระกิเลสตัวร้อนรุ่มกระวนกระวายอยู่ภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป ดังนั้นโดยปกติ พระภิกษุสามเณรในวัดจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในที่ใดๆ นอกวัด เพื่อให้มีเวลาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาแต่เพียงอย่างเดียว
ช่วงเช้ามืดก่อนบิณฑบาตจะเป็นการเตรียมสถานที่สำหรับฉันจังหัน โดยทั้งพระและเณรต่างช่วยกันทำความสะอาด จัดอาสนะ กระโถน ขัดถูพื้นศาลาด้วยกาบมะพร้าว ปัดกวาดศาลา และบริเวณรอบๆ อย่างสามัคคีพร้อมเพรียง งานการทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจะพยายามทำอย่างขันแข็ง มีสติและเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนเน้นอยู่เสมอตลอดมา
พอได้อรุณ วันใดที่ท้องฟ้าดูเป็นปกติ ไม่มีวี่แววว่าฝนจะตก ท่านจะครองจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วออกบิณฑบาตโดยพร้อมเพรียงกัน เดินมุ่งหน้าไปทางหมู่บ้านตาด ระยะทางไปกลับประมาณ 3-4 กิโลเมตร ขากลับแวะ รับบาตรจากญาติโยมที่มาจากในเมืองและ ต่างจังหวัดบริเวณหน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเสร็จจากบิณฑบาต พระเณรและฆราวาสต่างช่วยกันจัดอาหารหวานคาว เป็นหมวดหมู่ใส่ถาดไว้ เพื่อให้ญาติโยมทั้งที่มาพักปฏิบัติธรรมและที่มาทำบุญตอนเช้าได้รับประทานหลังพระฉันเสร็จแล้ว เมื่อพระเณรจัดอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว องค์หลวงปู่จะอนุโมทนาให้พร จากนั้นพระเณรท่านจะพิจารณาอาหารในบาตรก่อนด้วย ปฏิสังขาโยนิโสฯ เสร็จแล้วฉันในบาตรด้วยอาการสำรวม เงียบกริบ เหมือนไม่มีใคร รับประทานอาหารอยู่ในบริเวณนั้น เสร็จการฉันเช้าแล้ว ต่างรูปต่างกลับร้านที่พักปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตลอดวัน อาจมีการพักผ่อนบ้างแล้วแต่ความอุตสาหะพยายามของแต่ละรูป
ช่วงเวลาบ่าย เป็นเวลาที่พระมารวมกันฉันน้ำร้อนหรือน้ำปานะที่โรงไฟหรือโรงต้มน้ำร้อนแค่ช่วงเวลาสั้นๆ สัก ๑๕-๓๐ นาที อันเป็นการพักเหนื่อยจากการภาวนา เสรจ็จากนี้ก็แยกย้ายเข้าที่ภาวนาต่อ จนถึงในช่วงประมาณ บ่าย ๓ โมง พระเณรพร้อมเพรียงกันออกมาทำข้อวัตรปัดกวาดร้านและบริเวณทางเดิน ตลอดถึงรอบศาลา จากนั้นขัดถูทำความสะอาดพื้นศาลา เติมน้ำล้างเท้าบริเวณรอบศาลาและในห้องน้ำห้องส้วมให้เต็ม
ช่วงเวลาค่ำ เป็นช่วงเวลาที่พระเณรเข้าที่เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาไหว้พระสวดมนต์ตามอัธยาศัยเฉพาะตน ส่วนในระยะ ที่องค์หลวงปู่มีธาตุขันธ์แข็งแรงอยู่นั้นท่านจะเรียกประชุมเทศนาอบรมพระสัปดาห์ละครั้งโดยประมาณ ต่อมาระยะหลังเมื่อชราภาพมากขึ้นก็เว้นการประชุมพระห่างออกไปเรื่อย จนกระทั่งงดโดยสิ้นเชิงในปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เฉพาะในวันเข้าพรรษาและวันกฐินเท่านั้นที่ท่านยังคงเมตตาแสดงธรรมอบรมพระในช่วงเวลา ๑๕ ปีสุดท้ายก่อนจะละขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน